วันอังคารที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2555

สภาพการณ์ปัจจุบัน



วิกฤตการณ์แห่งการพัฒนา
          ท่ามกลางสังคมสมัยใหม่  ที่การพัฒนาอุตสาหกรรมกำลังรุดหน้าไป เราจะสังเกตเห็นว่า 30 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกมีการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแทบทุกประเภท   ถือได้ว่าเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของแต่ละประเทศ ที่จะทำให้ประเทศของตนมีความทันสมัยขึ้นมา
          แนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ผ่านมานั้นเน้นเรื่องความเจริญทางวัตถุมีการพัฒนาทางอุตสาหกรรม  มีการเร่งขยายรายได้ประชาชาติ ซึ่งส่งผลให้เห็นว่า 30  ปีที่ผ่านมา มีความเจริญเกิดขึ้นอย่างมากมาย  แต่เป็นความเจริญทางด้านวัตถุ ขณะที่วัตถุมีความเจริญทันสมัยขึ้น   แต่ทรัพยากรของโลกถูกทำลายไปอย่างไม่มีทางที่จะหามาใหม่ได้จนกระทั่งเกิด  “วิกฤตการณ์ของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม”  สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมลงถึงแม้ว่ารายได้ของชาติจะเพิ่มขึ้นทุกปี
         เพียงชั่วระยะเวลา 100 ปีเศษที่ไทยถูกบังคับให้รับอารยธรรมตะวันตกเข้ามาทำให้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป
หลายประการ  คือ

         1. ภาคธุรกิจเอกชนทั้งอุตสาหกรรมและบริการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ภาคเกษตรกรรมการขยายตัวต่ำมาก
         2. สังคมปรับตัวไปสู่สังคมอุตสหกรรมมากขึ้น
         3. กำลังซื้อของคนชั้นกลางขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากร กล่าวคือ มี    ประชากรวัยทำงานเพิ่มขึ้น แต่ประชากรที่เป็นภาระลดน้อยลง
         4. เกิดการขยายตัวของความเป็นเมือง
         5. เกิดการขยายตัวทางการศึกษา เช่น ในระดับปริญญาตรีเกิดมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และมหาวิทยาลัยเอกชนอีกจำนวนมาก
         6. สังคมไทยผูกพันกับต่างประเทศมากขึ้น
         7. การเปลี่ยนแปลงของชุมชนและครอบครัว จากครอบครัวขยายขนาดใหญ่เป็นครอบครัวเดี่ยวขนาดเล็ก เนื่องจากความจำเป็นทางเศรษฐกิจ
          ภายใต้การพัฒนาประเทศ  นับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 จนบัดนี้ กำลังเข้าสู่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2504-ปัจจุบัน) จะพบว่ามีความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ระหว่างสังคมเมืองกับสังคมชนบท    ภาคอุตสาหกรรมบริการกับภาคเกษตรกรรม  เกิดช่องว่างระหว่างความเจริญทางด้านวัตถุกับความเจริญทางด้านจิตใจ  เป็นเหตุให้เกิดปัญหาต่าง ๆ  ที่กระทบกระเทือนต่อชีวิต  ความเป็นอยู่ของประชาชน และความมั่นคงของชาติหรือเรียกว่าปัญหาสังคม  เช่น ปัญหาค่านิยมที่เปลี่ยนแปลง ปัญหาคุณธรรม ศีลธรรม จริยธรรม
ที่ลดน้อยลงทุกทีจะเห็นได้จากพ่อแม่บางคนที่ขายลูกไปเป็นโสเภณี    ปัญหาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ฯลฯ ซึ่งสามารถสรุปปัญหาหลัก ๆ ของสังคมไทยได้พอสังเขป    ดังนี้
1.    ปัญหาด้านเศรษฐกิจ เช่น ปัญหาความยากจน ปัญหาการขาดแคลนปัจจัยสี่ ปัญหาอพยพย้ายถิ่น ปัญหาสวัสดิการและสภาพการทำงาน ภาคอุตสาหกรรม ปัญหาความไม่สมดุลในการกระจายรายได้ เป็นต้น
2.    ปัญหาด้านสังคม ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบสังคม หรือโครงสร้างของสังคม เช่น ปัญหาการศึกษา ปัญหาการบริการสาธารณสุข ปัญหาเรื่องความเสื่อมโทรมทางด้านศีลธรรมและจิตใจ ปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด ปัญหาโรคเอดส์ ปัญหาโสเภณีเด็ก ปัญหาครอบครัว ปัญหาเด็กและเยาวชน ปัญหาพฤติกรรมเบี่ยงเบนปัญหาการพัฒนาโดยเลียนแบบสังคมตะวันตก ปัญหาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
3.    ปัญหาด้านการเมือง เช่น ปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียง ปัญหาการตื่นตัวทางการเมืองต่ำ ปัญหาระบบพรรคการเมืองที่มุ่งผลประโยชน์ของพรรคมากกว่าผลประโยชน์ของประชาชน ปัญหาคอรัปชั่น ปัญหาประชาชนขาดอำนาจและสิทธิในการตัดสินใจเรื่องที่เกี่ยวข้องและมีผลกระทบต่อพวกเขา ปัญหากลไกทางราชการขาดการเอาใจใส่ดูแลกระบวนการร่วมคิด ร่วมวางแผน และร่วมดำเนินงานในระดับชุมชน ฯลฯ
          ซึ่งเมื่อพิจารณาปัญหาสังคมเหล่านี้แล้วจะพบว่า  แต่ละปัญหามีความสัมพันธ์กับปัญหาหนึ่ง อาจเป็นสาเหตุของปัญหาหนึ่ง ขณะที่ปัญหาหนึ่งเป็นผลกระทบจากปัญหาหนึ่ง    เช่น ปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียง มีสาเหตุมาจากปัญหาด้านเศรษฐกิจที่ไม่พอกิจ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งของ เงินทองในการออกเสียงเลือกตั้ง ขณะเดียวกันปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียง ส่งผลต่อปัญหาทางการเมือง    คือ แสดงให้เห็นถึงสถานบันทางการเมืองอ่อนแอ รัฐบาลหรือพรรคการเมืองไม่สามารถสนองปัจจัยสี่    หรือสนองความต้องการแก่คนในสังคมได้อย่างเพียงพอ เป็นต้น

          ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม  สามารถจำแนกได้เป็น  2  ระดับ  คือ  ระดับบุคคลกับระดับสังคม และทั้ง 2 ระดับมีความสัมพันธ์กันส่งผลถึงกันได้ตลอดเวลา  เช่น การเบี่ยงเบนพฤติกรรมทางเพศ เป็นปัญหาระดับบุคคล แต่สามารถส่งผลถึงปัญหาระดับสังคมได้    คือ เอดส์ เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น